มะเร็งปากมดลูก สาเหตุคืออะไร มีอาการอย่างไร หญิงไทยควรตรวจเมื่อไร

 สุขภาพ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ชวนประชาชนร่วมรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูก แนะนำหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ตรวจคัดกรองเป็นประจำ และฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV วันที่ 10 มกราคม 2566 นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูกถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งพบอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งปากมดลูกสูงเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทย จากนั้นมีการผลักดันนโยบายการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกระดับประเทศขึ้นทำให้อุบัติการณ์มะเร็งปากมดลูกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมะเร็งปากมดลูกจัดอยู่ในอันดับ 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย มีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 15 ราย หรือ 5,422 คนต่อปี และเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 6 ราย หรือ 2,238 คนต่อปี สาเหตุเกิดมะเร็งปากมดลูกคืออะไร ? มะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากการติดเชื้อไวรัส Human Papillomavirus (HPV) ที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น การมีคู่นอนหลายคน การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ การมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ก็เป็นอีกปัจจัยร่วมที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอีกด้วย มะเร็งปากมดลูกมีอาการอย่างไร ? อาการที่เป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ มีตกขาว เลือดหรือของเหลวที่ผิดปกติออกทางช่องคลอด ประจำเดือนมามากหรือนานกว่าปกติ ในระยะลุกลามอาจมีอาการปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย ปัสสาวะขัดหรือถ่ายอุจจาระลำบาก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มกราคม รณรงค์ต่อต้านภัยมะเร็งปากมดลูก  ข่าวสุขภาพ นายแพทย์ศุภกร พิทักษ์การกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งวิทยานรีเวช สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ในเดือนมกราคมของทุกปีองค์กรด้านโรคมะเร็งต่าง ๆ ทั่วโลกจะร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูกเพื่อสร้างความตระหนักด้านการป้องกันโรคให้กับประชาชน สำหรับประเทศไทยก็มีหน่วยงานหลายภาคส่วนได้ร่วมรณรงค์ในโอกาสนี้เช่นกัน ในด้านนโยบายระดับประเทศมีการผลักดันให้การฉีดวัคซีน HPV โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กผู้หญิงในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งถือเป็นวัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกจึงเหมาะสมในการได้รับวัคซีน อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้ทั้งหมด ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วยังคงต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกควบคู่ไปด้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคให้ได้มากที่สุด

แนะนำข่าวสุขภาพ อ่านเพิ่มเติมคลิกเลย : เพิ่มค่าธรรมเนียมแพทย์ 30% ปรับชื่อรายการยาใหม่ ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต